แบบนี้ก็มีด้วย?! Lab-Grown Meat เทรนด์การกินเนื้อสัตว์โลกอนาคต 2022

ใครจะไปรู้ว่าปี 2022 มีเทรนด์การกินที่ล้ำได้ขนาดนี้! freshket ไม่พลาดชวนทุกคนมาตามเทรนด์บริโภคเนื้อสัตว์โลกอนาคตอย่าง “Lab-Grown Meat” หรือเนื้อสัตว์ที่สร้างจากห้องแล็บ สามารถใช้แทนเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่เรากินกันปกติได้ แถมยังดีต่อร่างกาย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย! ลบภาพจำการบริโภคเนื้อแบบเดิมๆ อย่างการซื้อเนื้อจากฟาร์มปศุสัตว์ออกไปได้เลย เพราะเนื้อที่เราจะทำความรู้จักกันวันนี้คือเนื้อสัตว์ที่สร้างในห้องแล็บ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์บนจานเพาะเชื้อ ที่ดูมุมไหนก็ล้ำไปหมด ซ้ำยังมีข้อดีมากมาย เช่น เหมาะเป็นโปรตีนทางเลือกที่ดีสำหรับนักกินที่สนใจสวัสดิภาพของสัตว์ นักกินสายรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือจะเป็นคนธรรมดาที่อยากลองลิ้มรสเนื้อที่เพาะในห้องทดลองสักหน่อย เพื่ออัปเดตเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น

วันนี้ freshket มาไขข้อข้องใจว่าเนื้อสัตว์สร้างจากห้องแล็บนี่เป็นเนื้อจริงๆ หรือไม่ มีข้อดีเด็ดๆ อะไรบ้างที่ทุกคนควรรู้ รวมถึงกระแสการสร้างเนื้อสัตว์จากห้องแล็บในไทยว่าไปถึงไหนแล้วบ้าง เราจะได้มีโอกาสได้ลองใช้ทำอาหารในเร็วๆ นี้ไหม มาดูกันด้านล่างเลยดีกว่า

เนื้อสัตว์สร้างจากแล็บ ใช่เนื้อจริงๆ หรือเปล่า?

หลายๆ คนเมื่อเจอคำว่า Lab-Grown Meat หรือ เนื้อสัตว์ที่สร้างจากแล็บ อาจคิดว่าเนื้อสัตว์นั้นๆ มาจากการสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่บนจานเพาะในห้องแล็บ และเข้าใจว่ามันต้องไม่ใช่เนื้อของแท้แน่นอน! แต่ขอบอกว่าคิดผิดแล้วล่ะ เพราะเนื้อสัตว์จากแล็บเป็นเนื้อจริงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ที่เราเอามาจากฟาร์มปศุสัตว์เลย โดยวิธีการสร้างเนื้อสัตว์ประเภทนี้ เริ่มจากการดึงเซลล์ต้นกำเนิดจากสัตว์ ที่เราต้องการเอามาเพาะโดยไม่ฆ่าสัตว์ตัวนั้น แล้วเอาเซลล์มาใส่ในจานเพาะที่มีสารอาหารเลี้ยงเชื้อ เช่น กรดอะมิโน น้ำตาล วิตามิน หรือสารอาหารเฉพาะ เพื่อช่วยกำหนดกำหนดวิธีและเวลาที่เซลล์จะแบ่งตัวนั่นเอง

พูดแล้วดูเหมือนง่ายนะ เพราะนักวิทยาศาสตร์แค่ดึงเซลล์จากสัตว์ เช่น โคเนื้อ มาเพาะในจาน รอมันแบ่งตัวแล้วเดี๋ยวเดียวก็ได้เนื้อสเต๊กพร้อมเสิร์ฟแล้ว แต่จริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะแล็บส่วนใหญ่มักสร้างเนื้อแบบไม่จำเพาะว่าเป็นเนื้อส่วนไหน ฉะนั้นเนื้อที่ได้ก็จะมีความเป็นเนื้อบด อย่างที่เรามักเจอในนักเก็ต หรือแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น ซึ่งถ้าเราอยากเพาะเนื้อแบบเฉพาะเจาะจง อย่างเนื้อสะโพก เนื้ออก ฯลฯ ก็ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนกว่านี้ เพื่อให้ได้สัมผัสและรสชาติที่เหมือนเนื้อส่วนนั้นมากที่สุด แต่เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ห้องแล็บจะสามารถสร้างเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้หลากหลาย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

เนื้อสัตว์ที่สร้างจากแล็บ มีข้อดีแจ่มๆ อะไรบ้าง

ข้อดีต่อผู้บริโภค

1. ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับเนื้อ เช่น ฮอร์โมนเร่งโต ไขมันประเภทอิ่มตัว สารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลีน ฯลฯ

2. สามารถเติมวิตามิน และแร่ธาตุลงในเนื้อได้ อย่าง วิตามินบี 12 และอื่นๆ ลดภาวะทุพโภชนาการในผู้บริโภคได้

3. มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสัตว์ที่ถูกฆ่า ทารุณ และถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในกระบวนการสร้างเนื้อ

4. เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหารในอนาคตเนื่องจากประชากรโลกเพิ่มขึ้น

ข้อดีต่อสิ่งแวดล้อม

1. อ้างอิงจากอ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าเนื้อสัตว์สร้างจากแล็บสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 96%

2. ลดการใช้น้ำลงถึง 82% – 96% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำในฟาร์มปศุสัตว์ (ขึ้นอยู่กับพันธุ์สัตว์)

3. ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์น้อยลง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า

4. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในสัตว์ เพราะไม่มีการกักขังสัตว์ในพื้นที่ปิด

พูดได้ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จากแล็บมีข้อดีที่น่าสนใจ ทั้งต่อตัวผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทรนด์รักษ์โลกที่ยังเป็นกระแสในปัจจุบัน ทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์จากแล็บ มีภาพลักษณ์แบบ Eco Friendly ไม่พอ ยัง Animal Friendly ด้วย ถือว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว

อีกนานมั้ยกว่าเราจะได้ลองชิมเนื้อสัตว์สร้างจากแล็บของไทย

จากปี 2021 ตลาดเนื้อสัตว์สร้างจากห้องแล็บมีมูลค่ากว่า 1.64 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงไปถึง 2,788.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2030 ถือว่าเป็นเรทการเติบโตที่สูงมาก ตอนนี้ก็มีหลากหลายประเทศที่เริ่มหันมาจับตลาดเนื้อสัตว์สร้างจากแล็บอย่าง อเมริกา อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ เป็นต้น

น่าเสียดายที่ตอนนี้ในไทยยังไม่มีแบรนด์ไทยที่สร้างเนื้อสัตว์จากแล็บโดยเฉพาะ แต่ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ปกำลังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ พัฒนา ‘คลีนมีท’ ซึ่งเป็นเนื้อหมูที่สร้างในห้องแล็บ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากแล็บให้คนไทยได้ลองชิมภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้! นอกจากนี้ ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ปยังกล่าวเสริมว่าการผลิตเนื้อสัตว์จากแล็บไม่ได้ต้องการให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพราะทุกคนยังคงกินเนื้อได้เหมือนเดิม แต่ทางนักวิจัยจะสร้างเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ ให้มีรสชาติเหมือนเนื้อของฟาร์มปศุสัตว์จริงๆ ไม่ต่างจากเนื้อที่เรากินอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ยังต้องการเสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบของไทยเพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนด้วย

เป็นยังไงบ้างกับเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเทรนด์การกิน “Lab-Grown Meat” หรือเนื้อสัตว์ที่สร้างจากห้องแล็บ ยิ่งในตอนนี้ที่หลายคนเริ่มมี awareness ต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื้อสัตว์ประเภทนี้อาจเป็นทางออกอีกทางที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ทำร้ายสัตว์ และยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารเอง ก็สามารถนำเทรนด์การหันมากินเนื้อจากห้องแล็บ มาเป็นทางเลือกในการเลือกใช้วัตถุดิบ และทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับที่มาของวัตถุดิบได้ด้วย ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้ตัวเมนูของร้านได้เป็นอย่างดี

หากอยากตามเทรนด์วงการอาหารเจ๋งๆ จากเราอีก ตามไปอ่านได้เลย คลิก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
alliedmarketresearch.com
bangkokbiznews.com
chula.ac.th
colorado.edu
frontiersin.org
mgronline.com
marketingoops.com