freshket เฟรชเก็ต

FYI: For Your Inspiration

MICHELIN Guide ประเทศไทย เพิ่ม 4 จังหวัดตัวแทนภาคอีสาน จัดอันดับร้านอาหารคุณภาพเยี่ยม

อาหารอีสาน มิชลิน Michelin guide Thailand จัดอันดับร้านอาหาร

MICHELIN Guide คัดสรรร้านอาหารและที่พักที่ดีที่สุดใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยเปิดตัวที่ไทยเมื่อปี 2561 ในชื่อ The MICHELIN Bangkok เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และมอบ 1 ดาวมิชลินให้กับ “ร้านเจ๊ไฝ” Street Food ชื่อดัง และตั้งแต่ปี 2561 จน 2565 ก็ได้เพิ่มจังหวัดนอกเหนือจากกรุงเทพฯ มาแล้ว 4 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา, เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา

หลักการเลือกร้านอาหารตามเกณฑ์มี 5 ข้อ ดังนี้

1. คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้

2. ความโดดเด่นของรสชาติ และเทคนิคการทำอาหาร

3. เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่สะท้อนออกมาในอาหารและประสบการณ์มื้อนั้น

4. ความคุ้มค่าสมราคา

5. ความสม่ำเสมอ

ต่อมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่อสัญญากับ MICHELIN Guide เพื่อทำโครงการ The Michelin Guide Thailand ปี 2565-2569 พร้อมเปลี่ยนชื่อคู่มือจากชื่อเมือง 5 จังหวัด เป็นชื่อ “ประเทศไทย” เพื่อสำรวจร้านอาหารในจังหวัดอื่นๆ

MICHELIN Guide Thailand เพิ่มพื้นที่สำรวจร้านอาหารในภาคอีสานอีก 4 จังหวัด

MICHELIN Guide ปีที่ 6 ขยายขอบเขตการเลือกร้านอาหารครอบคลุมภาคอีสาน โดยมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทย และมีจำนวน 20 จังหวัด การคัดเลือก 4 จังหวัดให้เป็นตัวแทนภาคอีสาน จะต้องสะท้อนอัตลักษณ์เด่นประจำภูมิภาค และรสชาติจัดจ้าน โดยคู่มือ MICHELIN Guide Thailand ปี 2566 จะสำรวจในจังหวัด ดังนี้

– นครราชสีมา

– อุบลราชธานี

– อุดรธานี

– ขอนแก่น

อาหารภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจ และยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรสุโขทัยและเขมรโบราณ รวมถึงพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวคุณภาพดีโด่งดังไปทั่วโลก วัตถุดิบประกอบอาหารหลักคือปลาน้ำจืดหลากหลายสายพันธุ์ เนื่องจากมีแม่น้ำหลายสายในภูมิภาค

เกว็นดัล ปูลเล็นเนค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ MICHELIN Guide ทั่วโลก เอ่ยว่าผู้ตรวจสอบประทับใจในรสชาติที่หลากหลายและมีมิติของอาหารอีสาน แม้ใช้วิธีการทำเบสิก เช่น ต้ม, ย่าง, นึ่ง หรือตุ๋นด้วยไฟอ่อน (Slow Cooking) จุดเด่นคือการถนอมอาหารแสดงถึงภูมิปัญญาพื้นบ้าน อย่างการหมักดองปลา และผักตามฤดูกาลไว้ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อยืดอายุการใช้งาน เช่น “ปลาร้า” เกิดจากการนำปลาท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว ซึ่งเป็นส่วนประกอบยอดนิยมใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ

ตอนนี้มีเชฟชาวอีสานจำนวนมากที่นำความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศ มาเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิด โดยพวกเขามีบทบาทสำคัญในการยกระดับเมนู และช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้อาหารอีสานมีคุณภาพมากขึ้น

คู่มือ MICHELIN Guide ประเทศไทย ปี 2566 จะส่งเสริมให้ภาคอีสานบ้านเราเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมอีสาน และชิมอาหารพื้นบ้าน ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชน ภูมิภาค และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่

MICHELIN Guide เดินหน้าสนับสนุนไทยในด้าน “วัฒนธรรมอาหาร” และการท่องเที่ยว

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่าการจัดทำคู่มือ MICHELIN Guide ประเทศไทยปีที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตาชาวโลก ในฐานะแหล่งท่องเที่ยว “ด้านวัฒนธรรมอาหาร” ทำให้ต่างชาติรับรู้กระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหารในวงกว้างขึ้น คู่มือนี้จะสนับสนุนและสร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท จากการตามรอยท่องเที่ยว โดย MICHELIN Guide Thailand ได้คัดสถานที่ท่องเที่ยวใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโก, อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ร้านอาหารไหนที่มีเมนูอาหารอีสานอยู่แล้ว หรืออยากเพิ่มกลิ่นอายอาหารอีสานบ้านเฮาให้กับเมนูที่ร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้ลองเมนูที่หลากหลายขึ้น ลองใช้เกณฑ์ 5 ข้อจาก MICHELIN Guide มาปรับปรุงและพัฒนาร้านให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถหยิบยกไอเดียวัตถุดิบเด่นดังจากภาคอีสานมาเพิ่มความแซ่บให้จานอาหารของตัวเอง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพอาหารไทย และสร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้นไป

อัปเดตข่าวสารหรือเรื่องวงในธุรกิจอาหารเจ๋งๆ ที่ทุกคนห้ามพลาด อ่านต่อได้ที่ คลิก

ขอขอบคุณที่มาจาก:
brandbuffet.in.th
guide.michelin.com