ทูน่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่มีความนิยมบริโภคมากที่สุดในโลก โดยมีแหล่งที่อยู่กระจายไปตามมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก และเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง The Food and Agriculture Organization (FAO) องค์การสหประชาชาติพบว่าระหว่างล็อกดาวน์ในปี 2020 อัตราการบริโภคทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น ตลาดทูน่าทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 39.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ยิ่งความต้องการบริโภคทูน่าสูงขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงต่อการจับทูน่าเกินลิมิตที่กฎหมายกำหนดก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นเหตุให้สูญเสียความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมนั่นเอง วันนี้เฟรชเก็ตอยากพาเจ้าของร้านอาหารทุกคนไปดูความสำคัญของทูน่าต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม และวิธีการ เลือกใช้ทูน่า อย่างไรให้ดีต่อโลกใบนี้
ทูน่าสำคัญอย่างไรต่อผู้บริโภค
ทูน่าเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ดีมาก เพราะเป็นแหล่งรวม วิตามิน B12 B6 D ธาตุเหล็ก กรดไขมันโอเมก้า-3 ฯลฯ การบริโภคทูน่าช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ทูน่ายังมีโปรตีนสูง แคลอรี่ต่ำ เมื่อกินแล้วทำให้อยู่ท้อง และอิ่มนานมากขึ้น ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ยอดเยี่ยมสำหรับสายเฮลท์ตี้ หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือแม้จะเป็นคนไม่ซีเรียสกับการกินมากนัก ทูน่าก็ยังคงเป็นแหล่งโปรตีนที่ยอดเยี่ยมอยู่ดี
ทูน่ามีความสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศทางทะเล
แม้ทูน่าเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ แต่รู้หรือไม่ว่าทูน่าเป็นนักล่าตัวท็อปในห่วงโซ่อาหารทางทะเล หมายความว่าหากมีการจับทูน่าเกินความจำเป็น (Overfishing) จนทำให้ขยายพันธุ์ไม่ทัน ก็จะทำให้จำนวนทูน่าในทะเลลดลง พ่วงมากับการเสียสมดุลของห่วงโซ่อาหาร ลองคิดภาพว่าถ้าท้องทะเลปราศจากผู้ล่า สิ่งที่ตามมาคือสปีชีส์ที่เป็นเหยื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น และแย่งแหล่งอาหารกันจนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารนั่นเอง
เลือกใช้ทูน่าเพื่อการบริโภคอย่างไรให้ยั่งยืน
มาเรียนรู้กันก่อนว่าทูน่าพันธุ์ไหนที่ควรและไม่ควรจับ รู้หรือไม่ว่าทูน่ามีหลากหลายชนิด และบางชนิดถูกจัดอยู่ในหมวดเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์! จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ หากเราจับทูน่ามาบริโภคโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงนี้ ผลกระทบที่ตามมาคือทูน่าบางชนิดอาจสูญหายไปจากท้องทะเลตลอดกาล freshket เลยอยากชวนร้านอาหารมาทำความรู้จักกับสายพันธุ์ทูน่าที่ควรและไม่ควรนำไปบริโภคเพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเลเพื่อโลกใบนี้กัน
เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์: Southern bluefin tuna
ไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์: Albacore,Yellowfin tuna, Bigeye tuna, Tongkol, Cakalang (Skipjack tuna)
ในฐานะของร้านอาหาร เราสามารถตรวจสอบซัพพลายเออร์ว่าทูน่าที่เรานำมาบริโภคมาจากการทำประมงที่มีความยั่งยืนหรือไม่ ด้วยการเทียบกับปัจจัย 2 ข้อนี้
1. ต้องเป็นการทำประมงที่ไม่ลดจำนวนสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่จับไป และยังคงปริมาณประชากรของสปีชีส์ไว้เท่าเดิม
2. การทำประมงต้องไม่ส่งผลกระทบสัตว์สายพันธุ์อื่นในระบบนิเวศ (รวมถึงมนุษย์) ต้องไม่ลดแหล่งอาหารในทะเล ไม่ฆ่าสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นโดยไม่จำเป็น หรือทำลายสิ่งแวดล้อมใต้น้ำในบริเวณนั้น
หลีกหนีทูน่าที่มาจากกระบวนการ FADs ไปให้ไกล
การใช้ FADs (Fish Aggregation Devices) กับอวนผืนยาว เป็นหนึ่งในวิธีการจับสัตว์ทะเลที่ใช้กันแพร่หลาย ซึ่งนักประมงและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลต่างคัดค้านและยืนยันว่าวิธีนี้เป็นการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน โดยให้เหตุผลว่า
1. FADs มักติดตั้งอุปกรณ์โซนาร์เพื่อดึงดูดปลาและสัตว์น้ำจำนวนมหาศาล เมื่อได้จำนวนปลาที่ต้องการแล้ว ก็จะดึงอวนทั้งปากขึ้นมาบนเรือโดยไม่คัดแยกสายพันธุ์ หรือชนิดของสัตว์ทะเล เน้นแต่ปริมาณที่จับเท่านั้น
2. FADs สามารถดึงดูดทูน่าที่ยังไม่โตเต็มไว ซึ่งการจับปลาที่ยังเล็ก เป็นการตัดโอกาสการขยายพันธุ์ และยิ่งจับทูน่าปริมาณมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงลดปริมาณทูน่าที่โตเต็มวัย ส่งผลให้อาหารของมนุษย์ลดลงตามไปด้วย
กล่าวง่ายๆ คือ FADs ดักจับสัตว์น้ำทุกประเภท อย่าง ฉลาม กระเบน เต่า หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เสี่ยงถูกจับไปด้วย โดยเราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Bycatch (สัตว์ที่ติดอวนโดยบังเอิญ) ซึ่งหากเราทำการประมงโดยไม่ใช้ FADs จะสามารถลดจำนวน Bycatch ถึง 10 เท่า! ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารที่ เลือกใช้ทูน่า เพื่อการบริโภค เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญมากในการส่งเสริมการบริโภคทูน่าอย่างยั่งยืน ทุกคนสามารถศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ หรือหาความรู้เพิ่มเกี่ยวกับการเลือกบริโภคทูน่ายั่งยืนมากขึ้น เช่น เช็คว่าทูน่าที่เราใช้ทำอาหารนั้นมาจากการทำประมงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรืออัปเดตข้อมูลสายพันธุ์ทูน่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพื่อเลี่ยงใช้ทูน่านั้นๆ ในร้านอาหารตัวเอง เป็นการผลักดันการบริโภคที่ดีต่อโลก และยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็น Eco-Friendly เหมาะสมกับเทรนด์รักษ์โลกในปัจจุบันอีกด้วย
หากอยากรู้เทคนิกเจ๋งๆ เกี่ยวการทำอาหารและการจัดการธุรกิจจาก freshket อีก อ่านต่อได้ที่นี่เลย คลิก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
aboutseafood.com
globenewswire.com
greenpeace.org.au
sustainweb.org
unep.org
webmd.com
worldwildlife.org